เจ้าหนูภายใน



เมื่อคนเราอายุมากขึ้นหรือพูดง่ายๆว่าแก่ลง เวลามีใครมาทักว่าเราดูอ่อนกว่าวัยหรือหน้าเด็ก มันก็มักจะทำให้หัวใจชุ่มชื่นขึ้นมา กระฉับกระเฉงได้ทั้งวัน อันนี้คงเป็นสัจธรรมของคนอายุเกินเลข 4 ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย อะไรทำให้เราโหยหาความอ่อยเยาว์ นอกจากการดูเอ๊าะๆอ่อนกว่าวัยทางกายภาพแล้ว มีอะไรที่มากกว่านั้นอยู่เบื้องลึกของจิตใจเราหรือเปล่า ที่ทำให้เราไม่อยากเผชิญหน้ากับคำว่า "ดูแก่จัง" และพึงพอใจกับคำว่า "ดูเด็กอยู่"

ความ แก่และความเป็นเด็กนั้น แยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิงราวกับเป็นปลายขั้วสองด้านของเส้นตรง A_______________B กระนั้นหรือ ? ฤาเราจะต้องเลือกเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เป็นคนแก่ นี่เป็นคำถามที่ผุดขึ้นมาในใจเช้านี้

ย้อน รำลึกกลับไปที่ความรู้เก่าๆซึ่งเคยศึกษามาเกี่ยวกับจิตวิทยาเพื่อการ เข้าใจและสื่อสารกับเด็ก ตั้งแต่สมัยลูกยังเล็กและเราเป็นแม่โฮมสคูลเลี้ยงลูก 3 คน มาวันนี้ลูกๆโตเป็นหนุ่มเป็นสาวกันไปหมด พอจะรื้อฟื้นความรู้และความทรงจำเก่าๆที ก็ต้องไปสืบค้นในโฟลเดอร์สมองชื่อ"เรื่องเล่า" ซึ่งเก็บอยู่ในแผงวงจรประสาทที่ชื่อว่า "วันวาน" "Past Narratives, Future Dreams" อยู่ๆประโยคนี้ก็โผล่แว้บเข้ามาในใจ

"เมื่อวานก็แค่เรื่องเล่า ส่วนพรุ่งนี้เป็นเพียงความฝัน" อันที่จริงประโยคนี้มันมีนัยยะทางจิตวิทยาสาย คาร์ล ยุง ที่พูดถึงเรื่อง "เด็กน้อยภายใน" ซึ่งเป็นจิตเก่าแก่ที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรม การแสดงออก และสุขภาพกาย-ใจของเราตลอดชีวิต

ไม่ว่าเราจะโตเป็นผู้ใหญ่และแก่ชราลงเพียงใด ไอ้เจ้าเด็กน้อยที่อยู่ข้างในตัวเราก็ไม่เคยโตและไม่เคยตาย เป็นเจ้าหนูอมตะ เป็น Eternal child ที่เล่นซ่อนแอบอยู่เบื้องหลังรูปลักษณ์ภายนอกของเรา บ่อยครั้งทีเดียวที่ไอ้ตัวเล็กภายในของเรามันงอแงอาละวาดไม่รู้เรื่อง เรียก ร้องความเอาใจใส่และความสนใจไม่หยุดหย่อน แถมยังมีความอยากรู้อยากเห็น ต้องการเรียนรู้โลกอย่างไม่มีวันสิ้นสุดอีกด้วย

เราทุกคนล้วนโตขึ้นมาพร้อมๆ กับเด็กน้อยภายในหลายตัวหลายบุคลิก เจ้าหนูเหล่านั้น เล่นเป็นผู้กำกับการแสดงในละครชีวิตของเราตลอดเวลา โดยที่เราไม่รู้ตัว เมื่อไรที่เราอยู่ในโหมดปลอดภัย มีความสุข และกราฟชีวิตสมดุลดี ผู้กำกับน้อยภายในก็จะมอบเวทีด้านแสงสว่างให้เรา แต่หากเมื่อใดที่เราเข้าสู่โหมดปกป้อง มีความเครียดและเสียสมดุลชีวิต ไอ้เจ้าตัวเล็กข้างในเราก็จะออกโรงแสดงบทด้านมืด หรือ Shadow aspect อย่างรวดเร็วและเป็นธรรมชาติเสียจนเราตระหนักตามไม่ทันทีเดียว

ปฏิบัติการของเจ้าหนูด้านเงามืดนี่เอง ที่บางครั้งทำให้เราเจ็บป่วยโดยหาสาเหตุทางการแพทย์สมัยใหม่ไม่ได้ ความป่วยไข้ที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ซึ่งหมอเองก็ยากที่จะระบุสาเหตุและชื่อโรค การเจ็บป่วยแบบนี้เรียกตามศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Somatization คือการที่จิตต้องการปลดปล่อยความคับข้องอึดอัดขัดแย้งที่อยู่ข้างใน แต่หาช่องทางปลดปล่อยไม่ได้ ก็เลยสำแดงออกมาผ่านการประท้วงทางร่างกาย เกิดเป็นอาการเจ็บนั่นปวดนี่ เมื่อยล้าอ่อนแอสิ้นหวัง เรื้อรังนานมากเข้าก็สามารถทำให้ป่วยรุนแรงจริงๆ เช่นมะเร็งได้เหมือนกัน

แต่ อาการเบื้องต้นซึ่งเกิดจากความคับข้องไร้สุขของเจ้าหนูภายในนั้น แสดงออกในรูปแบบพลังงาน ไม่จะเรียก "ออร่า" หรือจะเรียก "โหงวเฮ้ง" หรือจะเรียกว่า "สีหน้า" ก็แล้วแต่ ตัวเราอาจจะไม่รู้สึกและไม่รู้ตัว แต่ผู้คนที่อยู่ข้างๆ เรา เขาสามารถสัมผัสรับรู้ถึงพลังงานที่เจ้าหนูภายในของเราแผ่ออกไปได้

ถ้าเขาสัมผัสพลังงานด้านแสงสว่างของเด็กน้อยในตัวเรา เขาอาจจะทักเราว่า "วันนี้พี่ดูเด็กจัง" หรือ "พี่ดูสดใสร่าเริงจังเลย" แต่ถ้าเขาสัมผัสเจ้าหนูเงามืด เพื่อนสนิทอาจจะทักเราว่า "วันนี้เธอดูเหนื่อยๆและหน้าหมองไปนะ" หรือถ้าไม่ใช่เพื่อนสนิทเขาอาจวิจารณ์ในใจเงียบๆว่า "วันนี้ยัยนี่ดูแก่จัง"

ไอ้เจ้าเด็กน้อยภายในของเรานั้น ไม่ได้มีตัวเดียวหรือบุคลิกเดียว นอกจากจะมีเจ้าหนูปกติธรรมดาแล้ว ข้างในเราแต่ละคนยังซ่อนเจ้าหนูผู้เหงาหงอยโหยหารัก เจ้าหนูผู้บาดเจ็บที่เต็มไปด้วยบาดแผลในใจ เจ้าหนูไร้เดียงสาผู้ไว้วางใจโลกอย่างไร้เงื่อนไข เจ้าหนูมหัศจรรย์ฉันทำได้ เจ้าหนูพิทักษ์ธรรมพิทักษ์โลก และเจ้าหนูอื่นๆ อีกหลายบทหลายบาท

ซึ่งจะออกมาวาดลวดลายบนเวทีตามกาละ และจังหวะที่สิ่งกระตุ้นภายนอกกระตุกให้เขาออกมา ถ้าสิ่งกระตุ้นไปสะกิดถูกด้านแสงสว่างของเจ้าหนูตัวใดตัวหนึ่ง เราก็จะเป็นผู้ใหญ่ใจดี น่ารัก ขี้เล่น มองโลกด้วยความหวังอย่างสร้างสรรค์ แต่ถ้าเมื่อไรตัวกระตุ้นทำงานผิดที่ผิดทาง ไปสะกิดถูกอดีตด้านมืดของเจ้าหนูซึ่งกำลังนั่งร้องไห้ หรือแอบดิ้นทุรนทุรายอยู่ข้างในตัวเรา เงาดำของเจ้าหนูตัวนั้นก็จะสะท้อนผ่านบุคลิก สีหน้า น้ำเสียง พฤติกรรม ตลอดจนวิธีคิดของเราออกมา

ไม่ว่าอายุตัวเลขของเราจะเพิ่มขึ้นเท่าใด เจ้าหนูขี้เหงาก็ไม่มีวีนหายเหงา เจ้าหนูบาดเจ็บก็ยังคงนั่งลูบคลำบาดแผลอยู่ตรงนั้น เจ้าหนูขี้เล่นก็ยังโบยบินเป็นปีเตอร์แพนปฏิเสธการเติบโตเป็นผู้ใหญ่

เอาละ เช้านี้ลองไม่ส่องกระจกแต่งหน้าสักวัน แต่จะลองส่องกระจกในใจเพื่อค้นหาเด็กน้อยภายในดู อยากจะดูแลให้เขามีความสุข มีความสมดุล ให้เขาได้กินอิ่มนอนหลับอย่างปลอดภัย เพื่อที่รัศมีหรือแสงออร่าของเจ้าหนูมหัศจรรย์ภายใน จะได้ฉายโชนออกมาที่ใบหน้าเรา ริ้วรอยและตีนกาจะไม่มีความหมาย เพราะดวงตาของเราจะยังสดใสด้วยแววขี้เล่น และอยากเรียนรู้โลก หัวใจที่เหนื่อยง่ายขึ้นตามวัย ก็จะไม่ยอมแพ้กับจังหวะเต้นที่อ่อนล้าลง ยังคงถวิลหาความเริงร่า และความประหลาดใจต่อการมาเยือนของวันใหม่

ความเหงาและประสบการณ์เจ็บร้าวที่เคยผ่านพบ จะถูกขับไปอีกด้าน ไปสู่ความเห็นอกเห็นใจต่อความทุกข์ของผู้อื่นอย่างไม่ตัดสิน และไม่เพ่งโทษ ความผิดถูกหยาบๆ นั้นอาจจะมีอยู่ แต่ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และการให้อภัยเป็นจิตร่วมของจักรวาล และเป็นปัญญาญาณของเด็กน้อย

ปีเตอร์แพนข้างในของเรากำลังบอกเราว่า อย่ากลัวเงาไปเลย เจ้าพวกเงามืดนั่นน่ะ มันก็แค่เด็กขี้เหงา ขี้กลัว อยากมีเพื่อน อยากได้รับความรักความเอาใจใส่ ไม่ต้องทำอะไรมากหรอก ก็แค่ยอมรับเขาเป็นเพื่อนเล่น แล้วเล่นกับเขาดีๆ เมื่อเขาหายเหงาหายกลัวเมื่อไร โลกภายในของเราก็จะมีแต่ความเยาว์แห่งแสงสว่าง

ความเป็นเด็ก และความชราเป็นมิติซ้อนทับที่ละเอียดอ่อน จิตวิญญาณของเราไม่ได้เป็นเส้นตรงแบบ A____B หรือเรียงลำดับตัวเลขตามอายุที่เรานับขานกัน หนึ่ง สอง สาม สี่สิบ ห้าสิบ หากแต่ความเป็นเด็กและความเป็นผู้ใหญ่ มันเป็นพลังงานซ้อนพลังงานที่โคจรในกันและกัน อย่างเป็นเอกภาพ และไม่มีสิ้นสุด

เขียนๆมาถึงตรงนี้ จู่ๆ เจ้าหนูข้างในก็ปรากฏตัวขึ้นมาสะกิดว่าพอแล้ว หยุดเขียนได้แล้ว หนูอยากออกไปเที่ยวเล่นแล้ว ... เอาละ แม้หน้าตารูปลักษณ์ภายนอกเราจะดูเป็นคนจริงจัง เคร่งเครียด รับผิดชอบ แถมแบกภาระหน้าที่ไว้บนบ่าไหล่ทั้งสองอย่างหนักอึ้งมานาน
วันนี้ขอคืนพื้นที่ให้เจ้าหนูภายในได้เล่นตามใจสักวันเถอะ
แล้วมาเล่นกันอีกนะ :)