ประชุมแบบ Unlearn : ได้แบบไม่ได้


บทความเรื่อง "ประชุมแบบ Unlearn :ได้แบบไม่ได้"
แม่ส้ม
24 มีนาคม 2548

ความท้าทายในการทำงานทุกวันนี้ คงไม่ใช่เพียงแค่ความสำเร็จหรือความร่ำรวย ของคนใดคนหนึ่งในระดับปัจเจก แต่น่าจะเป็นความสำเร็จของกลุ่มซึ่งสามารถขยายออกไปเป็นความสำเร็จของสังคมได้ด้วย
ที่จังหวัดเชียงรายมีผู้ปกครองจากหลายอาชีพมารวมตัวกันกลุ่มหนึ่ง ก่อตั้งโรงเรียนทางเลือกขึ้นมา ชื่อว่า โรงเรียนเชียงรายมอนเตสซอรี่  สำหรับผู้เขียนแล้ว การจัดการศึกษาทางเลือกไม่ใช่เรื่องใหม่และไม่น่าตื่นเต้นพอที่อยากจะพูดถึงในที่นี้ แต่สิ่งที่น่าสนใจและอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง คือบรรยากาศการประชุมของคณะกรรมการโรงเรียน ซึ่งได้นำเอาการสนทนาอย่างสร้างสรรค์มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุม ดูเผิน ๆ อาจจะเหมือนว่าไม่มีสาระและวาระการประชุมที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม แต่ในระดับความสัมพันธ์เชิงลึก ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่สุดของการทำงานร่วมกัน กลับได้ผลมากกว่าที่คิด เพราะทำให้เกิดความเข้าใจกันและไว้วางใจกันมากขึ้น ทำให้ทำงานง่ายขึ้น สบายใจขึ้น สนุกและมีความสุขขึ้น ยิ่งโดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่ต่างคนต่างมาจากคนละสายอาชีพด้วยแล้ว การประชุมแบบนี้ถือเป็นความสำเร็จที่ผู้เขียนในฐานะสมาชิกคนหนึ่ง อดที่จะนำมาเผยแพร่ไม่ได้ โดยเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในวงกว้างออกไป

ก่อนอื่นขอแนะนำคณะกรรมการโรงเรียนที่เข้าร่วมสนทนาแบบอันเลิร์นในครั้งนี้ (24 มีนาคม 2548) ประกอบด้วย คุณพัฒนา สิทธิสมบัติ (ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงรายคนปัจจุบัน) พญ.สุษมา อุปรา (หมอบุ๋ย - ประธานมูลนิธิปิติศึกษา) คุณอนันต์ เหล่าธรรมทัศน์ (เจ้าของธุรกิจและผู้ปกครอง) คุณสมพร พึ่งอุดม (แม่ส้ม – นักการศึกษา,นักเขียน) คุณปิยนุช ชัชวรัตน์ (ครูอ้อย - ประธานชมรมออทิสทิกเชียงรายและผู้จัดการโรงเรียนปิติศึกษา) และคุณชมพู (เจ้าของธุรกิจจักรยาน Fat Free)
แม่ส้ม : สืบเนื่องจากการประชุมครั้งที่แล้ว หมอบุ๋ยอ้างถึงประโยคลือลั่นของอัลวิน ทอฟเลอร์ ที่ว่า “The illiterate of the 21st century will not be those who cannot read and write, but those who cannot learn, unlearn, and relearn.” ทำให้อยากเปิดการประชุมวันนี้ด้วยการชวนทุกคนมาร่วมกันสืบค้นการทำงานแบบ Unlearn กันดีไหมคะ
หมอบุ๋ย : อันเลิร์น คงไม่ได้แปลว่า“ไม่เรียน”นะคะ
คุณพัฒนา : น่าจะแปลว่า“ถอดถอนหรือรื้อถอน”
หมอบุ๋ย : ถ้าอย่างนั้นก็ต้องเกี่ยวข้องกับ“การรับรู้”ซินะ
แม่ส้ม : นึกถึงอีกหลายคำ เช่น “สลัด ลอกทิ้ง ปล่อยวาง“
คุณอนันต์ : unlearn ศัพท์คำนี้มีในพจนานุกรมไหม จะมาจากศัพท์ unroot หรือ root out หรือเปล่า แบบแปลว่า “ถอนรากถอนโคน” เช่นถ้ารู้ว่าอะไรที่เรียนมา แล้วมันไม่ถูกต้องหรือใช้ไม่ได้แล้ว ก็ต้องขุดถอนรากถอนโคนความรู้ชุดนั้นออกไป
หมอบุ๋ย : ถ้าอันเลิร์น คือการลอกความรู้ชุดเก่าทิ้งไป แล้วความรู้เก่าที่ยังใช้ได้อยู่ละคะ
คุณพัฒนา : ผมเห็นว่าการถอดความรู้ชุดเก่าออก มี ๒ ระดับ คือ
1. ระดับปัจเจก - แต่ละคน unlearn ในวิถีทางของตัวเอง ไม่มีผิด ไม่มีถูก เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล การเปลี่ยนแปลงก็อยู่ในตัวของคน ๆ นั้นเอง
2. ระดับกลุ่ม – คงต้อง unlearn ในเรื่องที่ทุกคนในกลุ่มเห็นพ้องต้องกัน ถึงต้องมีการแลกเปลี่ยนความคิดกันบ่อย ๆ แบบการใช้วงจร SECI จึงจะเป็นกลุ่มคุณภาพที่สามารถขยายองค์ความรู้ให้กว้างออกไป จากกลุ่มสู่ชุมชน จากชุมชนสู่ระดับเมืองและประเทศ อันเลิร์น จึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนา
ครูอ้อย : การอันเลิร์น คงไม่ได้หมายความว่า เราจะถอดหรือละทิ้งความรู้ชุดเก่าทั้งหมดตลอดเวลา แต่น่าจะเป็นการถอดวางความรู้เก่าบางชุด ในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง ณ เวลาใด เวลาหนึ่งมากกว่านะคะ
หมอบุ๋ย : ใช่แล้ว คงไม่ได้อันเลิร์นตลอดเวลา น่าจะเป็นการใช้กระบวนการอันเลิร์นในช่วงเวลาที่ต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เหมือนแก้วที่มีน้ำเต็มแก้ว ก็เติมน้ำใหม่ไม่ได้ ต้องเทน้ำเก่าออกไปก่อน

คุณพัฒนา : ผมมองว่าอันเลิร์น เป็นเครื่องมือใหม่ในการจัดการกับความรู้ แต่ทั้งนี้จะอันเลิร์นได้ ต้องมี“สติ”และ“การระลึกได้”ด้วย ต้องสร้างกลุ่มแลกเปลี่ยน ตัวอันเลิร์นเองไม่ใช่เป็น“เป้าหมาย”แต่มันเป็น“กระบวนการ”
แม่ส้ม : อืม เห็นด้วยค่ะว่าอันเลิร์นเป็น “ระหว่างทาง”ไม่ใช่“ปลายทาง” นี่ทำให้คิดโยงไปถึงเรื่อง COP (Community of Practice) หรือ“ชุนชนนักปฏิบัติการ” ว่าความสำคัญในการสร้างกลุ่มเรียนรู้ นอกจากทำกลุ่มของตัวเองให้มีนิสัยเอาความรู้ไปปฏิบัติจริง ๆ ไม่ใช่เพียงแค่คิดหรือมาถกกันทางความคิดเท่านั้น แล้วยังต้องสร้างสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกลุ่มชุมชนอื่นด้วย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้กันอย่างเป็นลูกโซ่ ทั้งกับกลุ่มใกล้และไกล ทำให้ “วงจรความรู้”มีการต่อยอด แปลงกาย สลับร่าง และย้อนกลับมาอีกเป็นพลวัต
คุณพัฒนา : เรื่องความไม่สามารถจะอันเลิร์นได้นี่สิครับ เป็นอุปสรรคหนึ่งของการเชื่อมโยงกลุ่มชุมชนนักปฏิบัติ หรือ COP เพราะมันมีความรู้บางชุดที่เป็นกรอบ เป็นกำแพง ทำให้คนเราติดยึด มีอัตตา ใจแคบ และปิดกั้นตัวเอง
หมอบุ๋ย : แล้วเราควรจะอันเลิร์นความรู้ชุดไหนบ้างละคะ ความรู้ด้านวิชาการ หรือความรู้ในการใช้ชีวิต
แม่ส้ม : เอ..คงแยกไม่ได้กระมัง ระหว่างความรู้ทางวิชาการหรืออาชีพ กับความรู้เรื่องชีวิต
หมอบุ๋ย : นั่นสิ เมื่อก่อนตอนอายุยังน้อย เราก็มีชุดคิดอันหนึ่ง มองโลกมุมหนึ่ง แต่พออายุมากขึ้น มุมมองก็เปลี่ยนไป ชุดความรู้ที่ก่อให้เกิดทัศนคติในการมองโลกมองชีวิตมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลานะคะ
แม่ส้ม : ค่ะ การประชุมกันอย่างนี้ ก็ถือว่าเป็นการปรับมุมมองชีวิตด้วยทางหนึ่ง ไม่มีวาระการประชุม ไม่มีแบบแผน ไม่มีการสรุป ไม่มีการตัดสินความคิดของกันและกัน นับว่าท้าทายต่อความเคยชินในการประชุมแบบเก่าอยู่เหมือนกันนะคะ
คุณอนันต์ : แต่ผมคิดว่าการประชุมแบบนี้ ได้งานมากกว่าการประชุมตามแบบแผนนะครับ
ครูอ้อย : ดิฉันว่าการประชุมแบบนี้รู้สึกผ่อนคลายและอบอุ่นกว่าการประชุมอย่างเป็นทางการ
แม่ส้ม : ในฐานะที่ครูอ้อยทำงานบริหารโรงเรียน อยากถามว่าการประชุมไร้วาระแบบนี้จำเป็นมากน้อยแค่ไหนคะ
ครูอ้อย : คิดว่าจำเป็นมากนะคะ เพราะได้แชร์ความคิดและความรู้สึกกันจริง ๆ การมีเพื่อนร่วมรับรู้ แม้จะไม่ได้เข้ามาช่วยในเนื้องานตามหน้าที่ แต่ก็ทำให้อบอุ่น รู้สึกปลอดภัย และมีกำลังใจมากขึ้นค่ะ
แม่ส้ม : ดูเหมือนพวกเรายังไม่เคยคุยกันเรื่อง core value ของการทำงานร่วมกันอย่างจริงจังเลยใช่ไหม น่าจะคุยเรื่องนี้กันสักวันเพื่อหา”หลัก”ร่วมกันนะคะ
หมอบุ๋ย : เหมือน“หลัก”การบินของนก 3 ข้อใช่ไหม คือ 1.) ระวังไม่ให้ชนกัน 2.)รักษาความเร็วให้เท่ากับตัวอื่น และ 3.)พยายามเกาะกลุ่มกันไว้
แม่ส้ม : ถ้าอย่างนั้นลองมาดูกันดีไหมว่า “สาเหตุของการบินชนกัน เกิดจากอะไรบ้าง ?”
คุณอนันต์ : ผมว่าเกิดจาก“การสื่อสาร”นะครับ การสื่อสารนี่ไม่ใช่แค่ communicate กันแล้วจบ แต่ปัญหามักจะเกิดจากการ”สื่อผิด”หรือ "สื่อไม่เป็น" ฝ่ายคนรับก็รับผิดๆ หรือฟังไม่เป็น ตีความผิด มันก็เลยนำไปสู่ “ความเข้าใจผิด”และ”ปัญหา”ไม่รู้จบ
แม่ส้ม : อาการอะไรบ้างคะ ที่เป็นสัญญาณบอกว่า ในทีมเริ่มมีการชนกันแล้ว หรือเริ่มสื่อสารกันผิดแล้ว
ครูอ้อย : ที่เห็นชัดที่สุดคือ อาการ”เกี่ยง”ว่านี่ไม่ใช่หน้าที่ของตน เพิกเฉย ไม่สนใจ ไม่รับรู้ ไม่ให้ความร่วมมือ
คุณพัฒนา : “เฉ่ย” ด้วยหรือเปล่า
แม่ส้ม : อะไรคือ”เฉ่ย”น่ะ
ครูอ้อย : คำพื้นเมืองทางเหนือออกเสียง“เฉื่อย”ว่า”เฉ่ย”ค่ะ
แม่ส้ม : อ้อ ..ถ้าอย่างนั้นมาดูกันว่า ต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการเกี่ยง อิกนอร์ และเฉ่ย มาจากไหน
ครูอ้อย : สาเหตุแรกคือ คนในองค์กรขาดโอกาสที่จะแชร์ความรู้สึกกัน ไม่ได้สื่อสารกันในเชิงลึก ทำให้ขาด”ใจ” คนเราส่วนมากทำงานได้ดีเพราะมี“ใจ”ให้กันค่ะ
แม่ส้ม : เหมือนนกที่ต้องเกาะกลุ่มกันเดินทางไกล คงต้องส่งสัญญาณสื่อสารกันตลอดเวลากระมัง เอ….แล้วถ้านกที่เป็นจ่าฝูงเกิดเหนื่อยขึ้นมา มีนกตัวอื่นมาสลับสับเปลี่ยนหรือเปล่านะ
คุณพัฒนา : มีครับ ถ้าใครชอบดูสารคดีชีวิตสัตว์จะรู้ว่า ฝูงนกนี่เวลาบิน เขาจะมีการจัดระเบียบ จัดแบ่งหน้าที่ และวางตำแหน่งการบินกันอย่างดีนะครับ
คุณชมพู : เหมือนขบวนจักรยานเสือภูเขาเลยค่ะ ต้องรักษาความเร็ว และตำแหน่งให้ดี ไม่ให้ชนกันหรือเกี่ยวกัน
คุณอนันต์ : นกแต่ละตัว มันรู้หน้าที่ของมันได้ยังไง นกที่อยู่หัวขบวน กับนกที่อยู่ปีกซ้ายและปีกขวา คงต้องออกแรงมากกว่านกตัวที่อยู่ตรงกลางนะ
คุณชมพู : ในขบวนเสือภูเขา จักรยานคันแรกจะช่วยลดแรงต้านให้กับคันหลัง ๆ ถ้ารักษาระดับให้ดี ๆ คนที่อยู่ข้างหลังจะไม่เหนื่อยเลย ถีบไปสบาย ๆ มันจะมีแรงดูดไปตามขบวนเอง
หมอบุ๋ย : ขอทบทวนความรู้เก่าหน่อยนะค่ะ แรงที่คุณชมพูพูดถึงนี่เรียกว่า “กำทอน” ค่ะ
แม่ส้ม : หมายความว่า ในทีมหนึ่ง นอกจากการแชร์ความรู้ แชร์ความรู้สึกแล้ว ยังต้องมาแชร์ศักยภาพกันด้วย ใช่หรือเปล่า
คุณอนันต์ : นั่นสิครับ เส้นทางบินของนกบางกลุ่มนี่ไม่ใช่ใกล้ ๆ เลย บินกันทีหลายพันกิโลเมตร ถ้าไม่แบ่งหน้าที่กันให้ดี คงไม่ไม่ถึงที่หมาย นกแต่ละตัวจึงต้องรู้“ศักยภาพ”ของตนเอง และกลุ่มก็ต้องรู้ “ศักยภาพ”ของกันและกันด้วย
คุณพัฒนา : ถือว่าต้องมี”การรับรู้”ร่วมกัน เพื่อไปทิศทางเดียวกันให้ถึงเป้าหมาย
แม่ส้ม : ถ้านกตัวหนึ่งอยากไปทางซ้าย อีกตัวอยากไปทางขวา กลุ่มคงวุ่นวายพิลึก
คุณอนันต์ : นึกถึง“ความสามัคคี”นะ
คุณพัฒนา : การเรียนรู้“กลุ่มชุมชนนักปฏิบัติการ”(COP)แบบนี้ ผมว่าจะช่วยทำให้คนเรามีความรู้สึกที่ดีต่อกัน ทำให้อยากช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และอาทรห่วงใยกัน จากภายในกลุ่มขยายออกไปนอกกลุ่ม ถ้ายิ่งขยายออกเป็นวงกว้างเหมือนระลอกคลื่นได้นี่ยิ่งดีนะครับ
แม่ส้ม : พอจะจับประเด็นได้แล้วว่า ถ้าแชร์”ความรู้สึก”กันก็จะไม่ชนกัน
เมื่อแชร์”ความรู้”กันก็จะบินตามกันทัน และเมื่อแชร์”ศักยภาพ”กันก็จะทำให้เกิดพลังกลุ่มหรือแรง”กำทอน”ขึ้นมา แต่เอ๊ะ...แล้วถ้ามีนกตัวใดตัวหนึ่งเกิดป่วยขึ้นมา กลุ่มจะทำยังไง จะทิ้งนกป่วยตัวนั้นไว้ หรือจะหยุดพักเพื่อรักษา
ครูอ้อย : เมื่อมีนกตัวใดตัวหนึ่งผิดปกติขึ้นมา นกทั้งหมดจะจัดรูปขบวนใหม่ เคยเห็นไหมคะ เวลานกบินกันเป็นฝูง มันจะจัดขบวนใหม่เป็นระยะ นกป่วยสามารถเปลี่ยนตำแหน่งเข้าไปอยู่ตรงกลาง ซึ่งจะมีแรงพยุงจากนกตัวอื่น ทำให้นกป่วยไม่ต้องออกแรงมาก และจะไม่มีการกำจัดกันทิ้งด้วยนะคะ
แม่ส้ม : ถ้าอย่างนั้น หมายความว่าหากเรายึดค่านิยมแบบพลังนก เราก็จะไม่ทิ้งหรือกำจัดเพื่อนที่ป่วย ใช่ไหม
คุณพัฒนา : ถ้าป่วยหลายตัวล่ะ จะหยุดพักก่อน หรือชลอความเร็วไหม
หมอบุ๋ย : ขอนอกเรื่องนิดนะคะ เกิดสงสัยขึ้นมาว่าฝูงนกนี่มันทะเลาะกันบ้างหรือเปล่า
แม่ส้ม : ถามคุณชมพูดีกว่า ถ้าจักรยานคันหนึ่งไปเกี่ยวถูกอีกคัน จะเกิดอะไรขึ้น
คุณชมพู : ล้มทั้งขบวน เหมือนโดมิโน่เลยละค่ะ
แม่ส้ม : ทีนี้ถามครูอ้อยบ้าง ในการทำงานจริงที่โรงเรียน เมื่อเกิดมีการเกี่ยวโดนหรือชนกันขึ้นมา โกรธกัน ทะเลาะกันหรือเปล่าคะ
ครูอ้อย : ส่วนตัวจะไม่โกรธคนที่มาชนนะ แต่มักโทษตัวเอง แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความรู้สึกว่าเรา“เป็นทีม”กันขนาดไหน ความเป็นทีมก็อย่างที่บอก คือต่างคนต่างต้องรู้สึกว่ามีคนร่วมแชร์ความคิด แชร์ความรับผิดชอบ แชร์ความปลอดภัย แม้จะไม่ได้แชร์เนื้องาน เพราะงานมันเป็นหน้าที่ของใครของมันอยู่แล้ว แต่ถ้ามีการแชร์การรับรู้กันบ่อย ๆ ทุกคนก็ทำด้วยใจทั้งนั้น ไม่ได้ทำเพียงแค่ตามหน้าที่
คุณพัฒนา : ถ้าอย่างนั้น เรายอมรับได้ไหมว่า คนเก่งหรือไม่เก่ง เมื่อมาอยู่กันเป็นทีมแล้ว ทุกคนสำคัญเท่ากันหมด
ครูอ้อย : ใช่ค่ะ ทุกคนเป็นฉากสะท้อนให้คนอื่นเสมอ เช่นสีดำทำให้สีขาวสว่างขึ้น คนไม่เก่งเป็นฉากหลังทำให้คนเก่งดูเก่งยิ่งขึ้น แต่ในความเป็นจริง คนแต่ละคนมีความสามารถต่างกัน คนเก่งถ้าไปทำงานผิดตำแหน่ง ก็อาจกลายเป็นคนไม่เก่งไปได้ค่ะ
คุณอนันต์ : ผมคิดว่าหนทางที่ต้องบินมันยังอีกไกล เป้าหมายก็ไกล นกทั้งฝูงต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของหมู่คณะด้วย อีกทั้งทรัพยากรก็มีจำกัด จึงต้องรักษาดูแลกันและกันให้ดีตลอดเส้นทาง ถ้าตัวใดตัวหนึ่งเกิดไม่ทำตามหน้าที่ของตนให้เต็มที่ ก็อาจจะตายกันทั้งฝูงได้เหมือนกันนะครับ
แม่ส้ม : เหมือนทั้งหมดมี”วิญญาณดวงเดียวกัน”ใช่ไหมคะ
คุณพัฒนา : ผมขอเรียกว่าเป็น”จุดมุ่งหมายหมู่”
คุณชมพู : คิดว่าต้อง”ผลัดกันนำ ผลัดกันตาม”ค่ะ
หมอบุ๋ย : นึกถึง”คลื่นพลัง” เป็นคลื่นที่มองไม่เห็น แต่มีพลังมหาศาล
ครูอ้อย : ยังย้ำว่า”นกทุกตัว”สำคัญหมดค่ะ
……………
บันทึกท้ายการประชุมไร้วาระ
Webster -
Unlearn : to put out of one's knowledge or memory / to undo the effect of / discard the habit of


..........