คุยกับเสียงวิจารณ์ตัวเอง

"ไม่เอาอ่ะ ไม่ขึ้นไปพูดบนเวทีหรอก  แค่คุยกับเพื่อนตามปกติ  เพื่อนมันยังบอกว่าฉันพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง"

"ไม่กล้าใส่หรอกกระโปรงสั้นเหนือเข่า น่องฉันยังกะโต๊ะบิลเลียด"

"หน้าตาขี้เหล่อย่างฉันเนี่ยนะ  จะทำงานพีอาร์ได้  อย่ามาชวนซะให้ยาก"

"คนมีปูมหลังเลวๆอย่างฉัน   ทำอะไรก็ไม่มีใครเห็นค่าหรอก อย่ามาปลอบใจกันเลย" 

คุ้นเคยกันไหมคะกับรูปประโยคทำนองนี้  
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่า
"เสียงเหล่านั้นมาจากไหน หรือใครพูดกรอกหูเรา 
จนเราพร่ำบอกตัวเองอย่างอัตโนมัติว่า
"ฉันไม่ดีพอหรอก ..ฉันไม่คู่ควรหรอก"

ไม่ว่าเสียง Inner Critic เหล่านั้นจะมาจากไหน  
วันนี้  ขอถามเพียงคำถามเดียว
"เรากล้าท้าทายเสียงวิจารณ์เหล่านั้นในใจเราไหม ?  .. กล้า หรือ ไม่กล้า !"

กล้าพอไหม  ที่จะลุกขึ้นเผชิญหน้าและจับเข่าคุยกับเสียงวิจารณ์ตัวเองพวก นั้น  กล้าพอไหม ที่จะยิ้มให้เขา  แล้วบอกเขาว่า "ที่เธอกล่าวหาฉันนั้นน่ะ  มันเป็นเพียงเสี้ยวส่วนเล็กๆเสี้ยวส่วนหนึ่งในชีวิตฉันเท่านั้นเอง  มันไม่ใช่ทั้งหมดหรอก  ฉันยอมรับว่าที่เธอพูดมันอาจจะมีส่วนถูกอยู่บ้าง   แต่เขตแดนชีวิตของฉันนั้นมันกว้างใหญ่ไพศาล และเต็มไปด้วยดินแดนอันอุดมสมบูรณ์อีกมากมาย ซึ่งฉันยังไม่ได้เดินทางเข้าไปค้นหาเลย   ฉันคงเสียเวลากับเธอนานนักไม่ได้หรอกคุณวิจารณ์   ฉันยังมีความฝันที่อยากทำอีกเยอะ  แต่ถึงยังไง ฉันก็อยากจะขอบคุณนะ  ที่ทำให้ฉันเติบโตและแข็งแรงขึ้น  ลาก่อนละนะ

โลกหมุนรอบคอตัวเอง




ค่อยๆหันไปทางซ้าย ค่อยๆวาดสายตากลับมาทางขวา หันไปให้สุดหัวไหล่
หลังตรง กล้ามเนื้อทุกส่วนผ่อนคลาย
ค่อยๆหันกลับมาตั้งมั่นตรงก
ลางช้าๆ
หายใจเข้าออกสบายๆ


ค่อยๆก้มหน้าช้าๆ รับรู้ความรู้สึกของกล้ามเนื้อต้นคอด้านหลัง
ใครว่ากล้ามเนื้อเส้นเอ็นข้
อต่อไม่รู้สึกรู้สม
บัดนี้เรารู้แล้วว่าตึงเป็น
อย่างไร ตึงสบายๆเป็นอย่างไร

ค่อยๆ เงยหน้าขึ้นช้าๆ มองตามความฝันขึ้นไปบนท้องฟ้า
ไม่ต้องรีบ ความฝันไม่หนีไปไหน
กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อ ลำคอใต้คาง ยืดหยุ่น ตึงสบาย แข็งแรง


หายใจเข้ายาวๆ หายใจออกช้าๆ ค่อยๆวาดเส้นนำสายตา
จากท้องฟ้าเบื้องบนกลับลงมา
สู่จุดนำสายตาที่อยู่ลิบลับ
หลับตาเบาๆ แล้ววาดเส้นโค้งโคจรรอบโลกอ
ีกครั้งหนึ่ง
ผ่านภูเขา ผ่านท้องทุ่ง ผ่านเมืองเล็กเมืองใหญ่ ผ่านมหาสทุทรเวิ้งว้าง

โลกมิได้เล็กอยู่ในกำมือ ทั้งก็ไม่ได้ใหญ่จนเราควรเพ
ิกเฉย

โลกหมุนรอบคอหนึ่งรอบ เป็นนาทีที่ไม่ต้องรัก ไม่ต้องชัง แค่หายใจและเคลื่อนคอไป

เจ้าหนูภายใน



เมื่อคนเราอายุมากขึ้นหรือพูดง่ายๆว่าแก่ลง เวลามีใครมาทักว่าเราดูอ่อนกว่าวัยหรือหน้าเด็ก มันก็มักจะทำให้หัวใจชุ่มชื่นขึ้นมา กระฉับกระเฉงได้ทั้งวัน อันนี้คงเป็นสัจธรรมของคนอายุเกินเลข 4 ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย อะไรทำให้เราโหยหาความอ่อยเยาว์ นอกจากการดูเอ๊าะๆอ่อนกว่าวัยทางกายภาพแล้ว มีอะไรที่มากกว่านั้นอยู่เบื้องลึกของจิตใจเราหรือเปล่า ที่ทำให้เราไม่อยากเผชิญหน้ากับคำว่า "ดูแก่จัง" และพึงพอใจกับคำว่า "ดูเด็กอยู่"

ความ แก่และความเป็นเด็กนั้น แยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิงราวกับเป็นปลายขั้วสองด้านของเส้นตรง A_______________B กระนั้นหรือ ? ฤาเราจะต้องเลือกเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เป็นคนแก่ นี่เป็นคำถามที่ผุดขึ้นมาในใจเช้านี้

ย้อน รำลึกกลับไปที่ความรู้เก่าๆซึ่งเคยศึกษามาเกี่ยวกับจิตวิทยาเพื่อการ เข้าใจและสื่อสารกับเด็ก ตั้งแต่สมัยลูกยังเล็กและเราเป็นแม่โฮมสคูลเลี้ยงลูก 3 คน มาวันนี้ลูกๆโตเป็นหนุ่มเป็นสาวกันไปหมด พอจะรื้อฟื้นความรู้และความทรงจำเก่าๆที ก็ต้องไปสืบค้นในโฟลเดอร์สมองชื่อ"เรื่องเล่า" ซึ่งเก็บอยู่ในแผงวงจรประสาทที่ชื่อว่า "วันวาน" "Past Narratives, Future Dreams" อยู่ๆประโยคนี้ก็โผล่แว้บเข้ามาในใจ

"เมื่อวานก็แค่เรื่องเล่า ส่วนพรุ่งนี้เป็นเพียงความฝัน" อันที่จริงประโยคนี้มันมีนัยยะทางจิตวิทยาสาย คาร์ล ยุง ที่พูดถึงเรื่อง "เด็กน้อยภายใน" ซึ่งเป็นจิตเก่าแก่ที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรม การแสดงออก และสุขภาพกาย-ใจของเราตลอดชีวิต

ไม่ว่าเราจะโตเป็นผู้ใหญ่และแก่ชราลงเพียงใด ไอ้เจ้าเด็กน้อยที่อยู่ข้างในตัวเราก็ไม่เคยโตและไม่เคยตาย เป็นเจ้าหนูอมตะ เป็น Eternal child ที่เล่นซ่อนแอบอยู่เบื้องหลังรูปลักษณ์ภายนอกของเรา บ่อยครั้งทีเดียวที่ไอ้ตัวเล็กภายในของเรามันงอแงอาละวาดไม่รู้เรื่อง เรียก ร้องความเอาใจใส่และความสนใจไม่หยุดหย่อน แถมยังมีความอยากรู้อยากเห็น ต้องการเรียนรู้โลกอย่างไม่มีวันสิ้นสุดอีกด้วย

เราทุกคนล้วนโตขึ้นมาพร้อมๆ กับเด็กน้อยภายในหลายตัวหลายบุคลิก เจ้าหนูเหล่านั้น เล่นเป็นผู้กำกับการแสดงในละครชีวิตของเราตลอดเวลา โดยที่เราไม่รู้ตัว เมื่อไรที่เราอยู่ในโหมดปลอดภัย มีความสุข และกราฟชีวิตสมดุลดี ผู้กำกับน้อยภายในก็จะมอบเวทีด้านแสงสว่างให้เรา แต่หากเมื่อใดที่เราเข้าสู่โหมดปกป้อง มีความเครียดและเสียสมดุลชีวิต ไอ้เจ้าตัวเล็กข้างในเราก็จะออกโรงแสดงบทด้านมืด หรือ Shadow aspect อย่างรวดเร็วและเป็นธรรมชาติเสียจนเราตระหนักตามไม่ทันทีเดียว

ปฏิบัติการของเจ้าหนูด้านเงามืดนี่เอง ที่บางครั้งทำให้เราเจ็บป่วยโดยหาสาเหตุทางการแพทย์สมัยใหม่ไม่ได้ ความป่วยไข้ที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ซึ่งหมอเองก็ยากที่จะระบุสาเหตุและชื่อโรค การเจ็บป่วยแบบนี้เรียกตามศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Somatization คือการที่จิตต้องการปลดปล่อยความคับข้องอึดอัดขัดแย้งที่อยู่ข้างใน แต่หาช่องทางปลดปล่อยไม่ได้ ก็เลยสำแดงออกมาผ่านการประท้วงทางร่างกาย เกิดเป็นอาการเจ็บนั่นปวดนี่ เมื่อยล้าอ่อนแอสิ้นหวัง เรื้อรังนานมากเข้าก็สามารถทำให้ป่วยรุนแรงจริงๆ เช่นมะเร็งได้เหมือนกัน

แต่ อาการเบื้องต้นซึ่งเกิดจากความคับข้องไร้สุขของเจ้าหนูภายในนั้น แสดงออกในรูปแบบพลังงาน ไม่จะเรียก "ออร่า" หรือจะเรียก "โหงวเฮ้ง" หรือจะเรียกว่า "สีหน้า" ก็แล้วแต่ ตัวเราอาจจะไม่รู้สึกและไม่รู้ตัว แต่ผู้คนที่อยู่ข้างๆ เรา เขาสามารถสัมผัสรับรู้ถึงพลังงานที่เจ้าหนูภายในของเราแผ่ออกไปได้

ถ้าเขาสัมผัสพลังงานด้านแสงสว่างของเด็กน้อยในตัวเรา เขาอาจจะทักเราว่า "วันนี้พี่ดูเด็กจัง" หรือ "พี่ดูสดใสร่าเริงจังเลย" แต่ถ้าเขาสัมผัสเจ้าหนูเงามืด เพื่อนสนิทอาจจะทักเราว่า "วันนี้เธอดูเหนื่อยๆและหน้าหมองไปนะ" หรือถ้าไม่ใช่เพื่อนสนิทเขาอาจวิจารณ์ในใจเงียบๆว่า "วันนี้ยัยนี่ดูแก่จัง"

ไอ้เจ้าเด็กน้อยภายในของเรานั้น ไม่ได้มีตัวเดียวหรือบุคลิกเดียว นอกจากจะมีเจ้าหนูปกติธรรมดาแล้ว ข้างในเราแต่ละคนยังซ่อนเจ้าหนูผู้เหงาหงอยโหยหารัก เจ้าหนูผู้บาดเจ็บที่เต็มไปด้วยบาดแผลในใจ เจ้าหนูไร้เดียงสาผู้ไว้วางใจโลกอย่างไร้เงื่อนไข เจ้าหนูมหัศจรรย์ฉันทำได้ เจ้าหนูพิทักษ์ธรรมพิทักษ์โลก และเจ้าหนูอื่นๆ อีกหลายบทหลายบาท

ซึ่งจะออกมาวาดลวดลายบนเวทีตามกาละ และจังหวะที่สิ่งกระตุ้นภายนอกกระตุกให้เขาออกมา ถ้าสิ่งกระตุ้นไปสะกิดถูกด้านแสงสว่างของเจ้าหนูตัวใดตัวหนึ่ง เราก็จะเป็นผู้ใหญ่ใจดี น่ารัก ขี้เล่น มองโลกด้วยความหวังอย่างสร้างสรรค์ แต่ถ้าเมื่อไรตัวกระตุ้นทำงานผิดที่ผิดทาง ไปสะกิดถูกอดีตด้านมืดของเจ้าหนูซึ่งกำลังนั่งร้องไห้ หรือแอบดิ้นทุรนทุรายอยู่ข้างในตัวเรา เงาดำของเจ้าหนูตัวนั้นก็จะสะท้อนผ่านบุคลิก สีหน้า น้ำเสียง พฤติกรรม ตลอดจนวิธีคิดของเราออกมา

ไม่ว่าอายุตัวเลขของเราจะเพิ่มขึ้นเท่าใด เจ้าหนูขี้เหงาก็ไม่มีวีนหายเหงา เจ้าหนูบาดเจ็บก็ยังคงนั่งลูบคลำบาดแผลอยู่ตรงนั้น เจ้าหนูขี้เล่นก็ยังโบยบินเป็นปีเตอร์แพนปฏิเสธการเติบโตเป็นผู้ใหญ่

เอาละ เช้านี้ลองไม่ส่องกระจกแต่งหน้าสักวัน แต่จะลองส่องกระจกในใจเพื่อค้นหาเด็กน้อยภายในดู อยากจะดูแลให้เขามีความสุข มีความสมดุล ให้เขาได้กินอิ่มนอนหลับอย่างปลอดภัย เพื่อที่รัศมีหรือแสงออร่าของเจ้าหนูมหัศจรรย์ภายใน จะได้ฉายโชนออกมาที่ใบหน้าเรา ริ้วรอยและตีนกาจะไม่มีความหมาย เพราะดวงตาของเราจะยังสดใสด้วยแววขี้เล่น และอยากเรียนรู้โลก หัวใจที่เหนื่อยง่ายขึ้นตามวัย ก็จะไม่ยอมแพ้กับจังหวะเต้นที่อ่อนล้าลง ยังคงถวิลหาความเริงร่า และความประหลาดใจต่อการมาเยือนของวันใหม่

ความเหงาและประสบการณ์เจ็บร้าวที่เคยผ่านพบ จะถูกขับไปอีกด้าน ไปสู่ความเห็นอกเห็นใจต่อความทุกข์ของผู้อื่นอย่างไม่ตัดสิน และไม่เพ่งโทษ ความผิดถูกหยาบๆ นั้นอาจจะมีอยู่ แต่ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และการให้อภัยเป็นจิตร่วมของจักรวาล และเป็นปัญญาญาณของเด็กน้อย

ปีเตอร์แพนข้างในของเรากำลังบอกเราว่า อย่ากลัวเงาไปเลย เจ้าพวกเงามืดนั่นน่ะ มันก็แค่เด็กขี้เหงา ขี้กลัว อยากมีเพื่อน อยากได้รับความรักความเอาใจใส่ ไม่ต้องทำอะไรมากหรอก ก็แค่ยอมรับเขาเป็นเพื่อนเล่น แล้วเล่นกับเขาดีๆ เมื่อเขาหายเหงาหายกลัวเมื่อไร โลกภายในของเราก็จะมีแต่ความเยาว์แห่งแสงสว่าง

ความเป็นเด็ก และความชราเป็นมิติซ้อนทับที่ละเอียดอ่อน จิตวิญญาณของเราไม่ได้เป็นเส้นตรงแบบ A____B หรือเรียงลำดับตัวเลขตามอายุที่เรานับขานกัน หนึ่ง สอง สาม สี่สิบ ห้าสิบ หากแต่ความเป็นเด็กและความเป็นผู้ใหญ่ มันเป็นพลังงานซ้อนพลังงานที่โคจรในกันและกัน อย่างเป็นเอกภาพ และไม่มีสิ้นสุด

เขียนๆมาถึงตรงนี้ จู่ๆ เจ้าหนูข้างในก็ปรากฏตัวขึ้นมาสะกิดว่าพอแล้ว หยุดเขียนได้แล้ว หนูอยากออกไปเที่ยวเล่นแล้ว ... เอาละ แม้หน้าตารูปลักษณ์ภายนอกเราจะดูเป็นคนจริงจัง เคร่งเครียด รับผิดชอบ แถมแบกภาระหน้าที่ไว้บนบ่าไหล่ทั้งสองอย่างหนักอึ้งมานาน
วันนี้ขอคืนพื้นที่ให้เจ้าหนูภายในได้เล่นตามใจสักวันเถอะ
แล้วมาเล่นกันอีกนะ :)

Hooponopono : บำบัดธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

The World's Most Unusual Therapist
โจ วิเทล เขียน
แม่ส้ม (สมพร อมรรัตนเสรีกุล) แปล
25 กย 49 : อ่านไป แปลไป สบายใจ
แปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษที่หมอบุ๋ยส่งมา ขอบคุณหมอบุ๋ยที่แบ่งปันเรื่องดี ๆ มาให้อ่านอยู่เสมอ
...............
เมื่อสองปีก่อน ผมได้ยินเรื่องของจิตแพทย์ในฮาวายคนหนึ่ง ซึ่งทำการรักษาให้กับคนไข้อาชญากรโรคจิต โดยที่เขาไม่เคยพบหน้าค่าตากับคนไข้เหล่านั้นเลย เขาใช้วิธีตรวจสอบแฟ้มประวัติของคนไข้ที่ส่งมาจากเรือนจำ จากนั้นก็เพ่งเข้าไปด้านในของตัวเอง เพื่อค้นหาว่าตัวเขาเองนั้นได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาการป่วยของคนไข้อย่างไรบ้าง เมื่อเขาค้นพบสิ่งที่ต้องแก้ไขและเยียวยาภายในตัวเองได้ คนไข้คนนั้นก็จะได้รับการบำบัดเยียวยาไปด้วย
ครั้งแรกที่ผมได้ยินเรื่องนี้ ผมคิดว่ามันคงเป็นเพียงแค่เรื่องเล่าของท้องถิ่น มันจะเป็นไปได้อย่างไรที่ใครจะรักษาคนอื่นด้วยการรักษาตัวเอง ยิ่งกว่านั้นมันคงเป็นไปไม่ได้แน่ ในการที่หมอจะบำบัดตัวเองแล้วผู้ป่วยอาชญากรจะได้รับการบำบัดไปด้วยตอนนั้นผมไม่ได้สนใจเรื่องนี้เท่าไรนัก เพราะมันเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผลและฟังไม่ขึ้นจริง ๆ
อย่างไรก็ตาม ผมได้ยินเรื่องนี้อีกครั้งในปีถัดมา ผมได้ยินว่ากระบวนการบำบัดแบบฮาวายนี้เรียกว่า “ฮูปโปโนโปโน” ซึ่งผมก็ไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่คราวนี้ผมไม่สามารถที่จะปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านหูไปเฉย ๆ ก็ถ้าหากว่าเรื่องนี้เป็นความจริง ผมก็อยากจะรู้รายละเอียดมากกว่านี้
ผมเข้าใจมาตลอดเวลาว่า “ความรับผิดชอบอย่างแท้จริง” ก็คือการที่ผมจะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ผมคิดและกระทำเท่านั้น นอกเหนือจากนี้แล้วมันก็ย่อมจะอยู่เหนือความรับผิดชอบของผมทั้งสิ้น ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็คงคิดถึงเรื่องความรับผิดชอบในแบบเดียวกับผมนี่แหละ เรารับผิดชอบเฉพาะในสิ่งที่เราทำ ไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นทำ แต่จิตแพทย์ฮาวายคนนี้ได้สอนให้ผมเกิดมุมมองและทัศนคติใหม่เกี่ยวกับ ”ความรับผิดชอบที่แท้จริง”
จิตแพทย์คนนี้ชื่อ ดร. Ihaleakala Hew Len ผมได้คุยกับหมอเลนครั้งแรกทางโทรศัพท์ เราคุยกันร่วมชั่วโมง ผมขอให้เขาเล่าถึงเรื่องราวทั้งหมดที่เกี่ยวกับการบำบัดของเขาอย่างละเอียดหมอเลนเล่าว่าเขาทำงานอยู่ที่ รพ.รัฐฮาวายมา 4 ปีแล้ว แผนกที่รักษาผู้ป่วยอาชญากรโรคจิตนั้นมีอันตรายมาก จิตแพทย์ส่วนใหญ่ทำงานไม่ถึงเดือนก็ลาออก พนักงานก็มักจะป่วยและลาออกเช่นกัน เวลาใครเดินผ่านตึกผู้ป่วยตึกนี้ ต้องเดินเอาหลังหันเข้ากำแพง เพราะกลัวว่าจะถูกคนไข้ทำลายเอา มันไม่ใช่สถานที่ที่ใครอยากจะเข้าไปอยู่ ไปทำงานหรือแม้แต่ไปเยี่ยมเยียนเอาเสียเลย
หมอเลนบอกผมว่าเขาไม่เคยพบหน้าคนไข้เลย เขาใช้สำนักงานในการตรวจสอบแฟ้มคนไข้ที่ส่งมาจากเรือนจำ ขณะที่เขาพิจารณาแฟ้มเหล่านั้น เขาจะทำงานกับตัวเอง และเมื่อเขาทำงานกับด้านในของตัวเอง คนไข้ก็จะเริ่มได้รับการบำบัดไปด้วยแล้ว
เขาเล่าต่อว่า “เมื่อผ่านไปสองสามเดือน คนไข้ที่เคยถูกใส่โซ่ตรวน ก็เริ่มได้รับการอนุญาตให้เดินไปไหนมาไหนได้อิสระ และคนไข้รายที่ต้องให้ยาอย่างหนักก็ได้รับการลดยาลง ส่วนในรายที่ไม่เคยมีโอกาสได้ถูกปลดปล่อยเลยก็ได้อิสรภาพมากขึ้น”
ผมฟังอย่างตื่นเต้น
"ไม่เพียงเท่านั้นนะ” หมอเลนเล่าต่อ “พวกพนักงานยังกลับทำงานอย่างมีความสุขขึ้น ไม่มีใครหนีงานและลาออกอีก ในที่สุดเรามีพนักงานมากกว่าความต้องการเสียอีก เพราะว่าคนไข้ได้รับการปลดปล่อยมากขึ้น วันนี้แผนกของเราปิด เพราะพนักงานทั้งหมดออกไปสาธิตวิธีทำงาน”
ผมยิงคำถามสำคัญ “คุณทำอะไรกับด้านในของตัวเอง ที่เป็นเหตุให้ผู้ป่วยได้รับการบำบัดและเกิดความเปลี่ยนแปลง ?”
“ผมก็เพียงแค่เยียวยาในส่วนที่ผมเกี่ยวข้องกับการป่วยของคนเหล่านั้น” หมอเลนตอบ
“ผมยังไม่เข้าใจ”
หมอเลนขยายความว่า “ความรับผิดชอบที่แท้จริงของชีวิต” นั้นครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของคุณ พูดง่าย ๆ ว่า ก็เพราะทุกๆการรับรู้ของคุณมันสัมพันธ์กับชีวิตของคุณอย่างแยกไม่ออก ดังนั้นมันจึงย่อมเป็นความรับผิดชอบของคุณโดยตรง พูดอีกนัยหนึ่งคือ โลกภายนอกทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่คุณสร้างขึ้นจากโลกด้านในของตัวคุณเอง
วู้ ! นี่เป็นอะไรที่เข้าใจยากจริงๆ การรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวผมพูดหรือทำนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง การต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทุกคนในชีวิตของผมพูดหรือทำนั้นก็น่าจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ความจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนี้ เมื่อคุณพูดถึงความรับผิดชอบที่แท้จริงต่อชีวิตของคุณ เมื่อนั้นทุกสิ่งที่คุณเห็น ได้ยิน ลิ้มรส สัมผัส และประสบการณ์ทั้งหมดที่คุณได้รับ ล้วนเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของคุณ เพราะว่าทั้งหมดนั้นมันคือชีวิตของคุณ
ซึ่งย่อมหมายความว่าการกระทำของผู้ก่อการร้าย ของประธานาธิบดี หรือภาวะเศรษฐกิจ ทุกสิ่งที่คุณรับรู้และไม่ชอบมัน ล้วนเกิดขึ้นจากความป่วยของคุณด้วย ที่จริงแล้วสิ่งเหล่านั้นมันไม่ได้ดำรงอยู่ พูดง่าย ๆ คือ มันไม่ได้เป็นหรือมีอะไรเลย นอกจากภาพที่ฉายจากภายในของตัวคุณเองเท่านั้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่พวกเขาข้างนอก แต่มันอยู่ที่ตัวคุณต่างหาก ดังนั้นถ้าจะเปลี่ยนพวกเขา ก็ต้องเปลี่ยนจากด้านในของตัวคุณเองก่อน
ผมรู้ดีว่านี่เป็นสิ่งที่ยากจะเข้าใจ แต่ขอเพียงแค่เปิดใจยอมรับและอยู่กับมัน การตำหนิกล่าวโทษและโยนความผิดนั้นทำง่ายกว่าความรับผิดชอบมากมายนัก การได้พูดคุยกับหมอเลน ทำให้ผมเริ่มตระหนักได้ว่า การบำบัดแบบ "ฮูปโปโนโปโน"นั้นที่แท้ก็หมายถึงการรักตัวเองนั่นเอง ถ้าคุณต้องการปรับปรุงหรือแก้ไขชีวิตของตัวเอง คุณก็ต้องเยียวยาตัวเอง และถ้าคุณต้องการรักษาใครก็ตาม แม้แต่ผู้ป่วยอาชญากรโรคจิต คุณก็ต้องรักษาเขาด้วยการเยียวยาตัวคุณเองก่อนเช่นกัน
ผมถามหมอเลนต่อว่า เขาเริ่มต้นเยียวยาตัวเองอย่างไร และเขาทำอะไรบ้างในขณะที่เขากำลังตรวจดูแฟ้มคนไข้เหล่านั้น
“ผมเพียงแค่พูดว่า “ผมขอโทษ” และ “ผมรักคุณ” ซ้ำหลาย ๆครั้ง” หมอเลนกล่าว
เท่านั้นเองหรือครับ ?
“ครับ เท่านั้นเอง”
การกลับมารักตัวเองคือวิธีที่ดีและได้ผลที่สุดในการเยียวยา เมื่อใดที่คุณเยียวยาและเปลี่ยนแปลงตัวเอง คุณก็ได้เปลี่ยนแปลงและเยียวยาโลกด้วย ผมจะเล่าตัวอย่างสด ๆ ร้อน ๆ ที่เจอกับตัวเองเกี่ยวกับผลของกระบวนการบำบัดนี้ได้วันหนึ่ง ผมได้รับอีเมล์ที่ทำให้ผมอารมณ์เสียมาก นี่ถ้าเป็นเมื่อก่อน ผมคงจะโต้ตอบกลับไปด้วยความโกรธ หรือไม่ก็พยายามถามหาเหตุผลกับคนที่ส่งเมล์หยาบคายนั้นมาให้ผม แต่ครั้งนี้ผมตัดสินใจทดลองวิธีการของหมอเลนดู ผมพูดกับตัวเองเงียบ ๆ ว่า “ผมขอโทษ” และ “ผมรักคุณ” ผมไม่ได้พูดกับใครเป็นเฉพาะเจาะจง ผมเพียงแค่ปลุกวิญญาณแห่งความรักขึ้นมาเยียวยาตัวเอง ซึ่งตัวผมเองนี่แหละที่มีส่วนในการก่อให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมาด้วย
ไม่ถึงชั่วโมง ผมก็ได้รับอีเมล์อีกฉบับจากบุคคลคนเดิม เขาเขียนมาขอโทษสำหรับข้อความหยาบคายที่ส่งมาก่อนหน้านี้ คุณอย่าลืมว่าผมไม่ได้ปฏิบัติอะไรด้านนอกเพื่อให้เกิดการขอโทษนั้นเลยนะ ไม่ได้แม้แต่เขียนข้อความกลับไปหาเขา ผมเพียงแค่เพ่งมองเข้าไปด้านในและพูดกับตัวเองว่า “ผมรักคุณ” เท่านั้นผมก็ได้เยียวยาอะไรบางอย่างที่อยู่ภายในตัวเอง ที่เป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุต่อการกระทำของเขาด้วย
ผมถามหมอเลนว่า “หนังสือที่วางขายและผลตอบรับจากข้างนอกเป็นอย่างไรบ้างครับ ? ”
“มันไม่ได้อยู่ที่ข้างนอก มันอยู่ในตัวคุณ” คำตอบของหมอเลนทำให้จิตใจของผมกระทบกับปัญญาอันลึกซึ้งของเขาอีกครั้งหนึ่ง ด้วยคำพูดสั้น ๆ ว่า “มันไม่ได้อยู่ข้างนอก”
คุณอาจจะต้องอ่านหนังสือของหมอเลนทั้งเล่มเพื่อให้เข้าใจเทคนิคบำบัดแบบฮูปโปโนโปโนทั้งหมดอย่างลึกซึ่ง แต่มันก็เพียงพอที่ผมจะพูดสั้น ๆ ว่า เมื่อไรที่คุณต้องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรก็ตามในชีวิตของคุณ มันมีเพียงตำแหน่งเดียวที่คุณต้องเฝ้ามอง นั่นคือ “ภายในตัวคุณเอง” และในขณะที่คุณเฝ้ามอง ให้มองด้วย"ความรัก"
............
คำพูดของดร.เลน :
“ถ้าคุณต้องการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไรก็ตาม ให้กลับมาจัดการที่ตัวเอง”
“ฮูปโปโนโปโน นั้นเรียบง่ายมาก ภูมิปัญญาโบราณของชาวฮาวายบอกว่า ทุกปัญหาล้วนเริ่มต้นมาจากความคิด แต่ตัวความคิดเองไม่ใช่ปัญหา แล้วอะไรเล่าคือตัวปัญหา
“ปัญหา”ก็คือ ความคิดทั้งหมดของเราที่ดูดซับเอาความทรงจำที่เจ็บปวด ความจำเกี่ยวกับบุคคล สถานที่ และความทรงจำเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆลำพังการใช้สติปัญญาไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะว่าความฉลาดทำงานได้แค่ระดับการจัดการ และการจัดการไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา คุณต้องปล่อยให้ความคิดในการพยายามจัดการนั้นผ่านเลยไป
สิ่งที่เกิดขึ้นขณะที่คุณทำฮูปโปโนโปโน คือการเปิดโอกาสให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ปลดปล่อยและชำระล้างความทรงจำและความคิดที่เจ็บปวด คุณไม่ได้ชำระล้างบุคคล สถานที่หรือเหตุการณ์ แต่คุณกำลังถอนพิษของพลังงานที่คุณมีส่วนร่วมก่อกับบุคคล สถานที่ หรือเหตุการณ์เหล่านั้น ดังนั้นขั้นตอนแรกทีสุดของฮูปโปโนโปโน คือการชำระพลังงานเหล่านั้นให้บริสุทธิ์ก่อน
จากนั้นความมหัศจรรย์บางอย่างจะเกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่พลังงานลบเหล่านั้นจะได้ถูกชำระล้างเท่านั้น แต่มันยังได้รับการปลดปล่อยเพื่อไปสู่สิ่งใหม่อีกด้วย พระพุทธเจ้าเรียกสภาวะนี้ว่า“ความว่าง” ขั้นตอนสุดท้ายของฮูปโปโนโปโน คือการยินยอมให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้ามาเติมเต็มความว่างนั้นด้วยแสงสว่าง
การปฏิบัติฮูปโปโนโปโนนั้น คุณไม่จำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับปัญหาหรือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด สิ่งที่คุณต้องทำมีเพียง“การเฝ้าสังเกต”ทุกปัญหาที่คุณประสบไม่ว่าจะทางกายภาพ ทางความคิด หรือทางอารมณ์ ในขณะที่คุณเฝ้าสังเกตอยู่นั้น ความรับผิดชอบที่แท้จริงของคุณคือการชำระล้างพลังงานเหล่านั้น ด้วยการพูดซ้ำ ๆ ว่า “ฉันขอโทษ โปรดยกโทษให้ฉันด้วย”
http://hooponopono.org/Articles/self_i-dentity.html
.....................................

ยินเสียงมนัสได้ด้วยลมหายใจ


จดหมายชุมชนฉบับนี้ ขออาศัยบรรยากาศปีใหม่จีน
คัดลอกคัมภีร์จีน พร้อมทั้ง(ฝึก)แปลและตีความมาให้เพื่อน ๆ อ่าน


บทนี้คัดมาจากเทศนาธรรมของจีน ชื่อแปลตามตัวอักษรว่า
เทีย(ฟัง,ได้ยิน) ซิง(ใจ) แจ(ศีล,ธรรม) แขะ(ผู้มาเยือน) มึ่ง(คำถาม)

..นี่เทียบเสียงแต้จิ๋ว..
เสียงจีนกลาง อ่านว่า ทิงซินไจเค่อเวิ่น

ลองแปลเป็นไทย : "ปุจฉาธรรมกับผู้มาเยือน เรื่องยินเสียงมนัส"

เป็นท่อนที่เปรียบเทียบการหายใจของคนเราว่าเหมือนกับชี่ของฟ้าและชี่ของดิน
ขณะที่เราหายใจเข้า เราดึงชี่เข้าด้านใน
ลมหายใจเข้าเปรียบเหมือนชี่สวรรค์หรือชี่ฟ้าที่เคลื่อนลงต่ำ
และเมื่อเราหายใจออก ลมหายใจออกเปรียบเหมือนชี่ของดินที่ลอยขึ้นบน

อุปมามนุษย์เราก็คือจักรวาลน้อย ผู้อยู่ระหว่างฟ้ากับดิน
ผู้ดำรงอยู่ด้วยลมหายใจเข้าและลมหายใจออก
ฟ้ากับดิน ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก
ย่อมปราศจากช่องว่างที่แยกขาด
มีแต่ความไหลเลื่อนต่อเนื่องดำเนินไป

ดังนั้น หากต้องการบูชาสวรรค์ จงใส่ใจพิจารณาลมหายใจเข้า
หากต้องการกราบไหว้ดิน จงใส่ใจพิจารณาลมหายใจออก

เมื่อลมหายใจเป็นหนึ่ง สวรรค์และดินย่อมเป็นหนึ่ง
เมื่อนั้น เราผู้อยู่ระหว่างฟ้าและดิน จึงย่อมกลายเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาลทั้งหมด.....

คัมภีร์นี้กล่าวว่า ลมหายใจเป็นเครื่องมือที่ทำให้สามารถฟังเสียงของจิตได้ชัดเจน

............................

ขอให้เพื่อน ๆ ทุกคน หยู่อี่ หยู่อี่
ครูส้ม (สมพร แซ่อึ้ง)
๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘
เชียงราย

ประชุมแบบ Unlearn : ได้แบบไม่ได้


บทความเรื่อง "ประชุมแบบ Unlearn :ได้แบบไม่ได้"
แม่ส้ม
24 มีนาคม 2548

ความท้าทายในการทำงานทุกวันนี้ คงไม่ใช่เพียงแค่ความสำเร็จหรือความร่ำรวย ของคนใดคนหนึ่งในระดับปัจเจก แต่น่าจะเป็นความสำเร็จของกลุ่มซึ่งสามารถขยายออกไปเป็นความสำเร็จของสังคมได้ด้วย
ที่จังหวัดเชียงรายมีผู้ปกครองจากหลายอาชีพมารวมตัวกันกลุ่มหนึ่ง ก่อตั้งโรงเรียนทางเลือกขึ้นมา ชื่อว่า โรงเรียนเชียงรายมอนเตสซอรี่  สำหรับผู้เขียนแล้ว การจัดการศึกษาทางเลือกไม่ใช่เรื่องใหม่และไม่น่าตื่นเต้นพอที่อยากจะพูดถึงในที่นี้ แต่สิ่งที่น่าสนใจและอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง คือบรรยากาศการประชุมของคณะกรรมการโรงเรียน ซึ่งได้นำเอาการสนทนาอย่างสร้างสรรค์มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุม ดูเผิน ๆ อาจจะเหมือนว่าไม่มีสาระและวาระการประชุมที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม แต่ในระดับความสัมพันธ์เชิงลึก ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญที่สุดของการทำงานร่วมกัน กลับได้ผลมากกว่าที่คิด เพราะทำให้เกิดความเข้าใจกันและไว้วางใจกันมากขึ้น ทำให้ทำงานง่ายขึ้น สบายใจขึ้น สนุกและมีความสุขขึ้น ยิ่งโดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่ต่างคนต่างมาจากคนละสายอาชีพด้วยแล้ว การประชุมแบบนี้ถือเป็นความสำเร็จที่ผู้เขียนในฐานะสมาชิกคนหนึ่ง อดที่จะนำมาเผยแพร่ไม่ได้ โดยเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในวงกว้างออกไป

ก่อนอื่นขอแนะนำคณะกรรมการโรงเรียนที่เข้าร่วมสนทนาแบบอันเลิร์นในครั้งนี้ (24 มีนาคม 2548) ประกอบด้วย คุณพัฒนา สิทธิสมบัติ (ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงรายคนปัจจุบัน) พญ.สุษมา อุปรา (หมอบุ๋ย - ประธานมูลนิธิปิติศึกษา) คุณอนันต์ เหล่าธรรมทัศน์ (เจ้าของธุรกิจและผู้ปกครอง) คุณสมพร พึ่งอุดม (แม่ส้ม – นักการศึกษา,นักเขียน) คุณปิยนุช ชัชวรัตน์ (ครูอ้อย - ประธานชมรมออทิสทิกเชียงรายและผู้จัดการโรงเรียนปิติศึกษา) และคุณชมพู (เจ้าของธุรกิจจักรยาน Fat Free)
แม่ส้ม : สืบเนื่องจากการประชุมครั้งที่แล้ว หมอบุ๋ยอ้างถึงประโยคลือลั่นของอัลวิน ทอฟเลอร์ ที่ว่า “The illiterate of the 21st century will not be those who cannot read and write, but those who cannot learn, unlearn, and relearn.” ทำให้อยากเปิดการประชุมวันนี้ด้วยการชวนทุกคนมาร่วมกันสืบค้นการทำงานแบบ Unlearn กันดีไหมคะ
หมอบุ๋ย : อันเลิร์น คงไม่ได้แปลว่า“ไม่เรียน”นะคะ
คุณพัฒนา : น่าจะแปลว่า“ถอดถอนหรือรื้อถอน”
หมอบุ๋ย : ถ้าอย่างนั้นก็ต้องเกี่ยวข้องกับ“การรับรู้”ซินะ
แม่ส้ม : นึกถึงอีกหลายคำ เช่น “สลัด ลอกทิ้ง ปล่อยวาง“
คุณอนันต์ : unlearn ศัพท์คำนี้มีในพจนานุกรมไหม จะมาจากศัพท์ unroot หรือ root out หรือเปล่า แบบแปลว่า “ถอนรากถอนโคน” เช่นถ้ารู้ว่าอะไรที่เรียนมา แล้วมันไม่ถูกต้องหรือใช้ไม่ได้แล้ว ก็ต้องขุดถอนรากถอนโคนความรู้ชุดนั้นออกไป
หมอบุ๋ย : ถ้าอันเลิร์น คือการลอกความรู้ชุดเก่าทิ้งไป แล้วความรู้เก่าที่ยังใช้ได้อยู่ละคะ
คุณพัฒนา : ผมเห็นว่าการถอดความรู้ชุดเก่าออก มี ๒ ระดับ คือ
1. ระดับปัจเจก - แต่ละคน unlearn ในวิถีทางของตัวเอง ไม่มีผิด ไม่มีถูก เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล การเปลี่ยนแปลงก็อยู่ในตัวของคน ๆ นั้นเอง
2. ระดับกลุ่ม – คงต้อง unlearn ในเรื่องที่ทุกคนในกลุ่มเห็นพ้องต้องกัน ถึงต้องมีการแลกเปลี่ยนความคิดกันบ่อย ๆ แบบการใช้วงจร SECI จึงจะเป็นกลุ่มคุณภาพที่สามารถขยายองค์ความรู้ให้กว้างออกไป จากกลุ่มสู่ชุมชน จากชุมชนสู่ระดับเมืองและประเทศ อันเลิร์น จึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนา
ครูอ้อย : การอันเลิร์น คงไม่ได้หมายความว่า เราจะถอดหรือละทิ้งความรู้ชุดเก่าทั้งหมดตลอดเวลา แต่น่าจะเป็นการถอดวางความรู้เก่าบางชุด ในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง ณ เวลาใด เวลาหนึ่งมากกว่านะคะ
หมอบุ๋ย : ใช่แล้ว คงไม่ได้อันเลิร์นตลอดเวลา น่าจะเป็นการใช้กระบวนการอันเลิร์นในช่วงเวลาที่ต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เหมือนแก้วที่มีน้ำเต็มแก้ว ก็เติมน้ำใหม่ไม่ได้ ต้องเทน้ำเก่าออกไปก่อน

คุณพัฒนา : ผมมองว่าอันเลิร์น เป็นเครื่องมือใหม่ในการจัดการกับความรู้ แต่ทั้งนี้จะอันเลิร์นได้ ต้องมี“สติ”และ“การระลึกได้”ด้วย ต้องสร้างกลุ่มแลกเปลี่ยน ตัวอันเลิร์นเองไม่ใช่เป็น“เป้าหมาย”แต่มันเป็น“กระบวนการ”
แม่ส้ม : อืม เห็นด้วยค่ะว่าอันเลิร์นเป็น “ระหว่างทาง”ไม่ใช่“ปลายทาง” นี่ทำให้คิดโยงไปถึงเรื่อง COP (Community of Practice) หรือ“ชุนชนนักปฏิบัติการ” ว่าความสำคัญในการสร้างกลุ่มเรียนรู้ นอกจากทำกลุ่มของตัวเองให้มีนิสัยเอาความรู้ไปปฏิบัติจริง ๆ ไม่ใช่เพียงแค่คิดหรือมาถกกันทางความคิดเท่านั้น แล้วยังต้องสร้างสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกลุ่มชุมชนอื่นด้วย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้กันอย่างเป็นลูกโซ่ ทั้งกับกลุ่มใกล้และไกล ทำให้ “วงจรความรู้”มีการต่อยอด แปลงกาย สลับร่าง และย้อนกลับมาอีกเป็นพลวัต
คุณพัฒนา : เรื่องความไม่สามารถจะอันเลิร์นได้นี่สิครับ เป็นอุปสรรคหนึ่งของการเชื่อมโยงกลุ่มชุมชนนักปฏิบัติ หรือ COP เพราะมันมีความรู้บางชุดที่เป็นกรอบ เป็นกำแพง ทำให้คนเราติดยึด มีอัตตา ใจแคบ และปิดกั้นตัวเอง
หมอบุ๋ย : แล้วเราควรจะอันเลิร์นความรู้ชุดไหนบ้างละคะ ความรู้ด้านวิชาการ หรือความรู้ในการใช้ชีวิต
แม่ส้ม : เอ..คงแยกไม่ได้กระมัง ระหว่างความรู้ทางวิชาการหรืออาชีพ กับความรู้เรื่องชีวิต
หมอบุ๋ย : นั่นสิ เมื่อก่อนตอนอายุยังน้อย เราก็มีชุดคิดอันหนึ่ง มองโลกมุมหนึ่ง แต่พออายุมากขึ้น มุมมองก็เปลี่ยนไป ชุดความรู้ที่ก่อให้เกิดทัศนคติในการมองโลกมองชีวิตมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลานะคะ
แม่ส้ม : ค่ะ การประชุมกันอย่างนี้ ก็ถือว่าเป็นการปรับมุมมองชีวิตด้วยทางหนึ่ง ไม่มีวาระการประชุม ไม่มีแบบแผน ไม่มีการสรุป ไม่มีการตัดสินความคิดของกันและกัน นับว่าท้าทายต่อความเคยชินในการประชุมแบบเก่าอยู่เหมือนกันนะคะ
คุณอนันต์ : แต่ผมคิดว่าการประชุมแบบนี้ ได้งานมากกว่าการประชุมตามแบบแผนนะครับ
ครูอ้อย : ดิฉันว่าการประชุมแบบนี้รู้สึกผ่อนคลายและอบอุ่นกว่าการประชุมอย่างเป็นทางการ
แม่ส้ม : ในฐานะที่ครูอ้อยทำงานบริหารโรงเรียน อยากถามว่าการประชุมไร้วาระแบบนี้จำเป็นมากน้อยแค่ไหนคะ
ครูอ้อย : คิดว่าจำเป็นมากนะคะ เพราะได้แชร์ความคิดและความรู้สึกกันจริง ๆ การมีเพื่อนร่วมรับรู้ แม้จะไม่ได้เข้ามาช่วยในเนื้องานตามหน้าที่ แต่ก็ทำให้อบอุ่น รู้สึกปลอดภัย และมีกำลังใจมากขึ้นค่ะ
แม่ส้ม : ดูเหมือนพวกเรายังไม่เคยคุยกันเรื่อง core value ของการทำงานร่วมกันอย่างจริงจังเลยใช่ไหม น่าจะคุยเรื่องนี้กันสักวันเพื่อหา”หลัก”ร่วมกันนะคะ
หมอบุ๋ย : เหมือน“หลัก”การบินของนก 3 ข้อใช่ไหม คือ 1.) ระวังไม่ให้ชนกัน 2.)รักษาความเร็วให้เท่ากับตัวอื่น และ 3.)พยายามเกาะกลุ่มกันไว้
แม่ส้ม : ถ้าอย่างนั้นลองมาดูกันดีไหมว่า “สาเหตุของการบินชนกัน เกิดจากอะไรบ้าง ?”
คุณอนันต์ : ผมว่าเกิดจาก“การสื่อสาร”นะครับ การสื่อสารนี่ไม่ใช่แค่ communicate กันแล้วจบ แต่ปัญหามักจะเกิดจากการ”สื่อผิด”หรือ "สื่อไม่เป็น" ฝ่ายคนรับก็รับผิดๆ หรือฟังไม่เป็น ตีความผิด มันก็เลยนำไปสู่ “ความเข้าใจผิด”และ”ปัญหา”ไม่รู้จบ
แม่ส้ม : อาการอะไรบ้างคะ ที่เป็นสัญญาณบอกว่า ในทีมเริ่มมีการชนกันแล้ว หรือเริ่มสื่อสารกันผิดแล้ว
ครูอ้อย : ที่เห็นชัดที่สุดคือ อาการ”เกี่ยง”ว่านี่ไม่ใช่หน้าที่ของตน เพิกเฉย ไม่สนใจ ไม่รับรู้ ไม่ให้ความร่วมมือ
คุณพัฒนา : “เฉ่ย” ด้วยหรือเปล่า
แม่ส้ม : อะไรคือ”เฉ่ย”น่ะ
ครูอ้อย : คำพื้นเมืองทางเหนือออกเสียง“เฉื่อย”ว่า”เฉ่ย”ค่ะ
แม่ส้ม : อ้อ ..ถ้าอย่างนั้นมาดูกันว่า ต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการเกี่ยง อิกนอร์ และเฉ่ย มาจากไหน
ครูอ้อย : สาเหตุแรกคือ คนในองค์กรขาดโอกาสที่จะแชร์ความรู้สึกกัน ไม่ได้สื่อสารกันในเชิงลึก ทำให้ขาด”ใจ” คนเราส่วนมากทำงานได้ดีเพราะมี“ใจ”ให้กันค่ะ
แม่ส้ม : เหมือนนกที่ต้องเกาะกลุ่มกันเดินทางไกล คงต้องส่งสัญญาณสื่อสารกันตลอดเวลากระมัง เอ….แล้วถ้านกที่เป็นจ่าฝูงเกิดเหนื่อยขึ้นมา มีนกตัวอื่นมาสลับสับเปลี่ยนหรือเปล่านะ
คุณพัฒนา : มีครับ ถ้าใครชอบดูสารคดีชีวิตสัตว์จะรู้ว่า ฝูงนกนี่เวลาบิน เขาจะมีการจัดระเบียบ จัดแบ่งหน้าที่ และวางตำแหน่งการบินกันอย่างดีนะครับ
คุณชมพู : เหมือนขบวนจักรยานเสือภูเขาเลยค่ะ ต้องรักษาความเร็ว และตำแหน่งให้ดี ไม่ให้ชนกันหรือเกี่ยวกัน
คุณอนันต์ : นกแต่ละตัว มันรู้หน้าที่ของมันได้ยังไง นกที่อยู่หัวขบวน กับนกที่อยู่ปีกซ้ายและปีกขวา คงต้องออกแรงมากกว่านกตัวที่อยู่ตรงกลางนะ
คุณชมพู : ในขบวนเสือภูเขา จักรยานคันแรกจะช่วยลดแรงต้านให้กับคันหลัง ๆ ถ้ารักษาระดับให้ดี ๆ คนที่อยู่ข้างหลังจะไม่เหนื่อยเลย ถีบไปสบาย ๆ มันจะมีแรงดูดไปตามขบวนเอง
หมอบุ๋ย : ขอทบทวนความรู้เก่าหน่อยนะค่ะ แรงที่คุณชมพูพูดถึงนี่เรียกว่า “กำทอน” ค่ะ
แม่ส้ม : หมายความว่า ในทีมหนึ่ง นอกจากการแชร์ความรู้ แชร์ความรู้สึกแล้ว ยังต้องมาแชร์ศักยภาพกันด้วย ใช่หรือเปล่า
คุณอนันต์ : นั่นสิครับ เส้นทางบินของนกบางกลุ่มนี่ไม่ใช่ใกล้ ๆ เลย บินกันทีหลายพันกิโลเมตร ถ้าไม่แบ่งหน้าที่กันให้ดี คงไม่ไม่ถึงที่หมาย นกแต่ละตัวจึงต้องรู้“ศักยภาพ”ของตนเอง และกลุ่มก็ต้องรู้ “ศักยภาพ”ของกันและกันด้วย
คุณพัฒนา : ถือว่าต้องมี”การรับรู้”ร่วมกัน เพื่อไปทิศทางเดียวกันให้ถึงเป้าหมาย
แม่ส้ม : ถ้านกตัวหนึ่งอยากไปทางซ้าย อีกตัวอยากไปทางขวา กลุ่มคงวุ่นวายพิลึก
คุณอนันต์ : นึกถึง“ความสามัคคี”นะ
คุณพัฒนา : การเรียนรู้“กลุ่มชุมชนนักปฏิบัติการ”(COP)แบบนี้ ผมว่าจะช่วยทำให้คนเรามีความรู้สึกที่ดีต่อกัน ทำให้อยากช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และอาทรห่วงใยกัน จากภายในกลุ่มขยายออกไปนอกกลุ่ม ถ้ายิ่งขยายออกเป็นวงกว้างเหมือนระลอกคลื่นได้นี่ยิ่งดีนะครับ
แม่ส้ม : พอจะจับประเด็นได้แล้วว่า ถ้าแชร์”ความรู้สึก”กันก็จะไม่ชนกัน
เมื่อแชร์”ความรู้”กันก็จะบินตามกันทัน และเมื่อแชร์”ศักยภาพ”กันก็จะทำให้เกิดพลังกลุ่มหรือแรง”กำทอน”ขึ้นมา แต่เอ๊ะ...แล้วถ้ามีนกตัวใดตัวหนึ่งเกิดป่วยขึ้นมา กลุ่มจะทำยังไง จะทิ้งนกป่วยตัวนั้นไว้ หรือจะหยุดพักเพื่อรักษา
ครูอ้อย : เมื่อมีนกตัวใดตัวหนึ่งผิดปกติขึ้นมา นกทั้งหมดจะจัดรูปขบวนใหม่ เคยเห็นไหมคะ เวลานกบินกันเป็นฝูง มันจะจัดขบวนใหม่เป็นระยะ นกป่วยสามารถเปลี่ยนตำแหน่งเข้าไปอยู่ตรงกลาง ซึ่งจะมีแรงพยุงจากนกตัวอื่น ทำให้นกป่วยไม่ต้องออกแรงมาก และจะไม่มีการกำจัดกันทิ้งด้วยนะคะ
แม่ส้ม : ถ้าอย่างนั้น หมายความว่าหากเรายึดค่านิยมแบบพลังนก เราก็จะไม่ทิ้งหรือกำจัดเพื่อนที่ป่วย ใช่ไหม
คุณพัฒนา : ถ้าป่วยหลายตัวล่ะ จะหยุดพักก่อน หรือชลอความเร็วไหม
หมอบุ๋ย : ขอนอกเรื่องนิดนะคะ เกิดสงสัยขึ้นมาว่าฝูงนกนี่มันทะเลาะกันบ้างหรือเปล่า
แม่ส้ม : ถามคุณชมพูดีกว่า ถ้าจักรยานคันหนึ่งไปเกี่ยวถูกอีกคัน จะเกิดอะไรขึ้น
คุณชมพู : ล้มทั้งขบวน เหมือนโดมิโน่เลยละค่ะ
แม่ส้ม : ทีนี้ถามครูอ้อยบ้าง ในการทำงานจริงที่โรงเรียน เมื่อเกิดมีการเกี่ยวโดนหรือชนกันขึ้นมา โกรธกัน ทะเลาะกันหรือเปล่าคะ
ครูอ้อย : ส่วนตัวจะไม่โกรธคนที่มาชนนะ แต่มักโทษตัวเอง แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความรู้สึกว่าเรา“เป็นทีม”กันขนาดไหน ความเป็นทีมก็อย่างที่บอก คือต่างคนต่างต้องรู้สึกว่ามีคนร่วมแชร์ความคิด แชร์ความรับผิดชอบ แชร์ความปลอดภัย แม้จะไม่ได้แชร์เนื้องาน เพราะงานมันเป็นหน้าที่ของใครของมันอยู่แล้ว แต่ถ้ามีการแชร์การรับรู้กันบ่อย ๆ ทุกคนก็ทำด้วยใจทั้งนั้น ไม่ได้ทำเพียงแค่ตามหน้าที่
คุณพัฒนา : ถ้าอย่างนั้น เรายอมรับได้ไหมว่า คนเก่งหรือไม่เก่ง เมื่อมาอยู่กันเป็นทีมแล้ว ทุกคนสำคัญเท่ากันหมด
ครูอ้อย : ใช่ค่ะ ทุกคนเป็นฉากสะท้อนให้คนอื่นเสมอ เช่นสีดำทำให้สีขาวสว่างขึ้น คนไม่เก่งเป็นฉากหลังทำให้คนเก่งดูเก่งยิ่งขึ้น แต่ในความเป็นจริง คนแต่ละคนมีความสามารถต่างกัน คนเก่งถ้าไปทำงานผิดตำแหน่ง ก็อาจกลายเป็นคนไม่เก่งไปได้ค่ะ
คุณอนันต์ : ผมคิดว่าหนทางที่ต้องบินมันยังอีกไกล เป้าหมายก็ไกล นกทั้งฝูงต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของหมู่คณะด้วย อีกทั้งทรัพยากรก็มีจำกัด จึงต้องรักษาดูแลกันและกันให้ดีตลอดเส้นทาง ถ้าตัวใดตัวหนึ่งเกิดไม่ทำตามหน้าที่ของตนให้เต็มที่ ก็อาจจะตายกันทั้งฝูงได้เหมือนกันนะครับ
แม่ส้ม : เหมือนทั้งหมดมี”วิญญาณดวงเดียวกัน”ใช่ไหมคะ
คุณพัฒนา : ผมขอเรียกว่าเป็น”จุดมุ่งหมายหมู่”
คุณชมพู : คิดว่าต้อง”ผลัดกันนำ ผลัดกันตาม”ค่ะ
หมอบุ๋ย : นึกถึง”คลื่นพลัง” เป็นคลื่นที่มองไม่เห็น แต่มีพลังมหาศาล
ครูอ้อย : ยังย้ำว่า”นกทุกตัว”สำคัญหมดค่ะ
……………
บันทึกท้ายการประชุมไร้วาระ
Webster -
Unlearn : to put out of one's knowledge or memory / to undo the effect of / discard the habit of


..........